เอกชน ห่วงสงครามตะวันออกกลางขยายวงกระทบราคาน้ำมัน
หลังจากมีรายงานว่า กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่านได้เปิดฉากโจมตีไปที่เป้าหมายทางทหารและความมั่นคงที่สำคัญในอิสราเอลด้วยขีปนาวุธโดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้การสังหารผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และผู้บัญชาการอิหร่านในเลบานอนเมื่อเร็วๆ นี้ และล่าสุดอิสราเอลกับสหรัฐอเมริกาเตือนอิหร่าน เตรียมเจอผลลัพธ์ที่รุนแรง หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธกว่า 180 ลูกพุ่งเป้าสถานที่ทางทหารในอิสราเอล โดยกองทัพเตรียมพร้อมขั้นสูงสุดไว้แล้วในการตอบโต้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท. กล่าวว่าทางภาคเอกชนมีการจับตาการโจมตีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพราะมีความเป็นห่วงว่าเมื่อสงครามขยายวงไปยังตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อ ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้อีก ถึงแม้ว่าเวลานี้สถานการณ์ราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลมากนัก โดยยังอยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากสงครามมีการขยายวงและส่งผลกระทบต่อการผลิตก็จะทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมัน พุ่งสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลเป็นปัญหากระทบในวงกว้าง
นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงค่าระวางเรือที่อาจมีการปรับตัวสูงขึ้นได้ จากระดับปัจจุบันที่ค่าระวางเรือมีการปรับลดลงมาเล็กน้อยจากช่วงสถานการณ์สงครามก่อนหน้านี้แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงไม่ได้เข้าสู่ภาวะปกติเหมือนเช่นในช่วงก่อนโควิด 19 หากเจอสถานการณ์สงครามซ้ำเติมมีความกังวลว่าค่าระวางเรือในการขนส่งสินค้าจะกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะซ้ำเติมผู้ประกอบการได้ เพราะอาจต้องมีการหลีกเลี่ยงเส้นทางการขนส่งในเส้นทางเดิมซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าสูงขึ้น
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ลงนามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อศึกษาโอกาสทางการตลาดและกลยุทธ์การขายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืนของประเทศไทย
GC มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2593 พร้อมผสานแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ควบคู่การกับพัฒนาธุรกิจ จึงเกิดการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ผสานเทคโลยีการกลั่น ขั้นสูงสู่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งถือเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable & Sustainable Energy ที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
OR กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Energy Solution Provider ด้วยแนวทางการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยายสู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่สามารถผสมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF เข้ากับน้ำมัน JET โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เป็นหลักการเดียวกับการผสมเอทานอลกับน้ำมันเบนซิน หรือ การผสมไบโอดีเซลกับน้ำมันดีเซล ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาคการบินทั้งสายการบินในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง SAF เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ.2608
นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญด้านโรงกลั่นน้ำมัน โดยเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพโรงกลั่นสู่การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน หรือ SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ว การบุกเบิกผลิตภัณฑ์ SAF ในเชิงพาณิชย์ สู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งความร่วมมือระหว่าง GC และ OR ในฐานะผู้นำด้านการตลาดและการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย จะเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้สำเร็จ
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง OR และ GC ในครั้งนี้ OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานของไทย มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกับ GC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระดับสากล เพื่อศึกษาและนำน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) จากกระบวนการ Co-Processing ของ GC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้สายการบินทั้งในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศได้ใช้ SAF เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2608 และยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO และ IATA ในอนาคต นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solution Provider) ของ OR เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป