“พีระพันธุ์” เอาจริงคุมราคาน้ำมัน จ่อใช้ กกพ.โมเดล เสนอกฎหมาย SPR เข้า ครม. ต้นปี 68 ชี้ปีหน้าแวดวงพลังงานกระเพื่อมเห็นชัดแน่ หลายกฎหมายพลังงานจ่อเข้าครม. เปิดรายละเอียดทำไมต้องคุม คุมแล้วเป็นอย่างไร ใครได้ประโยชน์?
‘พีระพันธุ์’ ชี้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวรับแผนพลังงานใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์โลกมุ่งลดคาร์บอน คาดสรุปแผนพลังงานชาติเสร็จปลายปีนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอคคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” ในการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 ว่าการปรับตัวเพื่อรองรับพลังงานใหม่นั้นคงไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ภาครัฐเองก็ต้องทำเช่นกัน โดยการปรับตัวไม่ได้แค่ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เท่านั้น แต่ต้องปรับให้เข้ากับเทรนด์โลกด้วย เพราะทุกภาคมีส่วนในการปล่อยมลภาวะส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เห็นได้จากภัยน้ำท่วมในไทย พายุเฮอริเคน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำคือการลดปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากภาคพลังงาน เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero 2065 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมยังต้องใช้พลังงานฟอสซิล เพราะฉะนั้นในแผนพลังงานใหม่จึงวางไว้ให้การผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน(RE)มากขึ้น ซึ่งไทยเน้นที่พลังงานจากแสงแดด(โซลาร์เซล) โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP)ใหม่ จึงเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น การปรับตัวดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย นับว่าเป็นสิ่งท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในความเป็นจริงต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงนั้นถูก แต่ระบบการผลิตแพง และมีกฎระเบียบเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความยุ่งยากเป็นอุปสรรค ผมในฐานะเข้ามารับผิดชอบกระทรวงพลังงานจึงกำลังศึกษาและร่างกฎหมาย เพื่อทำอย่างไรให้เอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าได้เองง่าย เน้นให้สามารถผลิตในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำ เพื่อลดต้นทุนให้กับทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมด้วย ทางภาคอุตสาหกรรมอาจจะค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องเผชิญอุปสรรคทางการค้า หากสินค้าไม่ได้ผลิตจากพลังงานสะอาดก็จะถูกข้อกีดกันจากประเทศผู้นำเข้า อาจไม่รับซื้อ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ต้องปรับตัวให้เข้ากับแผนพลังงานใหม่ แต่ต้องปรับตัวเข้ากับโลกด้วย ซึ่งในภาคปฏิบัติ ภาคอุตสาหกรรมต้องช่วยคิดวิธีแก้ไขและนำเสนอมากับทางภาครัฐ “ขณะนี้แผน PDP อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในหลักการทำอย่างไรให้คาร์บอนลดลงจากภาคการผลิตและการใช้พลังงานก่อนจะเดินทางไปสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ และการจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจทุกฝ่าย เช่นทำอย่างไรให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง เพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำคัญต่อทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมทั้งที่นำเข้าจากเมียนมา ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมรับมือกับเทรนด์โลกได้อย่างทันท่วงที”
สำหรับการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งประกอบไปด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ได้ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วในเดือนช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา
ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนส่งแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 62 แห่ง เพื่อแสดงความคิดเห็นและส่งกลับมา โดยคาดว่าจะสรุปแผนสามารถนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาตามลำดับได้ในช่วงปลายปีนี้ ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของแผน PDP มีหลายประเด็นที่ยังต้องพิจารณาทั้ง ปริมาณสำรองไฟฟ้า ค่าพยากรณ์ไฟฟ้า รวมถึงกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ไทย บรรลุเป้าหมายแนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ทั้งนี้ต้องขยับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ให้เข้าสู่ระบบเร็วขึ้นโดยขยับให้มาอยู่ในช่วงก่อนปี 2573 จากเดิมที่จะเข้าสู่ระบบปริมาณมากในช่วงปี 2575 และปี 2578 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาพลังงาน
“การขยับโซลาร์เซลให้เร็วขึ้น จะมีอยู่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ โดยต้องพิจารณาในเรื่องความพร้อมของสายส่ง และความมั่นคง ซึ่งต้องมีการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน(ESS)ด้วย”