หน้าแรก ข่าวสารพลังงาน ‘อย่าบังคับให้เรารับต้นทุนที่ไม่ควรรับ’ ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ กฎหมาย พลัง(งาน)ในมือประชาชน

‘อย่าบังคับให้เรารับต้นทุนที่ไม่ควรรับ’ ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ กฎหมาย พลัง(งาน)ในมือประชาชน

‘อย่าบังคับให้เรารับต้นทุนที่ไม่ควรรับ’ ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ กฎหมาย พลัง(งาน)ในมือประชาชน

“ความยั่งยืนคือโลกที่เราพยายามผสานประโยชน์ต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน โดยไม่ทำให้โลกใบนี้เสียไปจนคนรุ่นหลังอยู่ไม่ได้ มันเป็นทางที่เราต้องเดิน เป็นทางที่ต้องค่อยๆ เดินไป แต่ต้องเดิน ต่อให้ไม่เดิน ก็ต้องโดนถีบให้เดิน” คือคำตอบของ ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อคำถามถึงคำว่า sustainability ที่แสนคุ้นหูในยุคนี้

เป็นบทสนทนาสั้นๆ ก่อนการแจกลายเซ็นยังบูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ J02 มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มีทั้งนิสิต นักศึกษา ประชาชน แฟนคลับ และผู้ที่เคยร่วมงานแล้วประทับใจในแนวคิด มาต่อคิวคับคั่ง รวมถึงผู้บริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ท่านหนึ่งที่คว้าคิวแรกเพราะมาถึงก่อนใคร ‘Energy for All กฎหมายกับพลัง(งาน)ในมือประชาชน’ คือผลงานของนักกฎหมายท่านนี้ที่ถูกเจ้าตัวจรดปากกาลงนามมากมายในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ผศ.ดร.ปิติย้ำว่า กฎหมายกับพลังงาน เป็นเรื่องใกล้ตัว บางครั้งเราอาจมองไม่เห็นมัน แต่หากได้รับความไม่ยุติธรรมเมื่อไหร่ หรือพลังงานขาดไปเมื่อไหร่ จึงจะรู้สึก ท้ายที่สุด เรื่องที่อยู่ในหนังสือคือเรื่องใกล้ตัวมาก และขาดไม่ได้ ดังนั้น โลกต้อง ‘ตั้งหลัก’ ไทยต้องตั้งหลัก และเราทุกคนต้องตั้งหลัก

“เรื่องพลังงานและความยั่งยืน มันมีสิ่งที่ต้องทำ ต้องตั้งหลักอย่างนี้ก่อน มันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ หรืออยากทำ โลกต้องตั้งหลัก ทุกคนต้องตั้งหลัก ทุกอย่างที่อยู่บนโลกก็ต้องตั้งหลักด้วย ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการเดินไปข้างหน้า วันนี้เราไม่สามารถดีดนิ้ว แล้วเปลี่ยนไฟในระบบเป็นไฟสีเขียวได้ทั้งหมด ไม่อย่างนั้น ไฟจะหยุดชะงัก เราพร้อมหรือไม่ที่จะให้ไฟโรงพยาบาลขาดได้” ถามว่า ก้าวแรกที่ต้องทำคืออะไร? ได้คำตอบฉบับกระชับ มองเห็นภาพอย่างเข้าใจง่าย “ข้อแรก เราต้องเริ่มเปลี่ยน เราอาจต้องเริ่มปล่อยก๊าชคาร์บอนน้อยลงเรื่อยๆ ไฟฟ้าสะอาดในช่วงแรก ถ้ามันแพงขึ้น ใครต้องจ่าย เขาบอกว่า คนซื้อไง ระบบโครงข่ายต้องจ่าย แต่คนที่ประกอบการโครงข่ายเอาไฟมาขาย สุดท้ายใครต้องจ่าย คำตอบคือผู้ใช้ไฟ” จากนั้นขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า ไฟฟ้าอาจมีต้นทุนสูงขึ้นบ้างจากการเปลี่ยนเป็นพลังงานยั่งยืน ทุกคนต้องจ่าย ไม่ใช่แค่ใครคนหนึ่งจ่าย “ข้อสอง สิ่งที่รัฐต้องทำคืออย่าบังคับให้เราต้องรับต้นทุนที่ไม่ควรรับ คือ คนจ่ายค่าไฟ จ่าย แต่ไม่ควรถูกบังคับให้จ่ายในสิ่งที่ไม่ควรต้องจ่าย ทำไมต้องโดนบังคับให้ซื้อไฟแพงเสมอ รัฐไม่ควรจัดหาไฟที่แพงโดยมีต้นทุนทางเชื้อเพลิงแบบผูกปิ่นโตยาว 20-30 ปี ตอนนี้ผมเสียบชาร์จโทรศัพท์ เราไม่รู้ว่าหน่วยอิเล็กตรอนที่เป็นไฟฟ้ามาจากไหน แต่ผมควรจ่ายเฉพาะสิ่งที่ผมควรจ่ายเท่านั้น ถ้าวันข้างหน้าผมทำโรงงานส่งออกไปยุโรป ต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาด ผมพร้อมจ่ายแพงขึ้นหน่อย ผมควรมีสิทธิเลือก ถูกไหม? แล้วถ้าวันข้างหน้าผมซื้อไฟรีนิวถูกลงได้ ถูกกว่าไฟที่ปั่นมาจากเชื้อเพลิง ผมก็ควรมีสิทธิเลือกได้ นี่คือบทบาทของผู้ประกอบการและรัฐ ผู้ใช้พลังงานต้องรับผิดชอบในต้นทุนที่ต้องจ่ายเพราะท้ายที่สุดคุณก็เป็นผู้ก่อมลพิษ ผู้กำหนดนโยบายต้องไม่ถูกครอบงำ องค์กรที่กำกับดูแล เป็นกรรมการ ไม่ควรเลือกข้าง เวลาใครเสียบแรง จะแจกใบเหลืองก็ต้องแจก ทุกคนมีบทบาทของตัวเอง” ผศ.ดร.ปิติอธิบาย พร้อมปิดท้ายอย่างเฉียบคม โดยเฉพาะประโยคสุดท้าย

หากเทียบฟอร์มผลงานแต่ละกระทรวงอย่างไม่เป็นทางการแล้ว กระทรวงพลังงานเป็นหนึ่งในหลายกระทรวงที่มีผลงานโดดเด่น แม้จะยังไม่ได้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่นโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ภายใต้การนำของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ต่อเนื่อง

เร็ว ๆ นี้ นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ตอกย้ำถึง นโยบาย รื้อ ลด ปลด สร้าง ว่า เรื่องหลัก ๆ ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับค่าพลังงานทั้ง ไฟ ก๊าซ และน้ำมัน ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน มีปัจจัยบางอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่เราจะปล่อยไปอย่างนี้ไม่ได้ ต้องคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร ในส่วนของก๊าซนั้น ได้แก้ไขการกำหนดราคาก๊าซใน Gas Pool ไปเมื่อต้นปีนี้ ทำให้สามารถควบคุมค่าไฟฟ้าได้ระดับหนึ่ง แต่คงต้องดำเนินการเรื่องอื่นต่อไป


เรื่องน้ำมันปัญหาหลักมีสองส่วน ส่วนแรก คือ ราคาเนื้อน้ำมัน ที่ขึ้นลงตามตลาดโลกอยู่นอกเหนือการควบคุมเช่นเดียวกับราคาก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้า  ส่วนที่สอง คือ การจัดเก็บภาษี

ส่วนแรกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน ที่กำลังคิดหาทางแก้ไข ส่วนที่สองอยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามขอความร่วมมือตลอดมา ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะเป้าหมายต่างกัน กระทรวงพลังงานต้องการลดราคาพลังงานให้ประชาชน ส่วนกระทรวงการคลังต้องการเงินจากประชาชน จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข


“ต้องเข้าใจด้วยว่า ไทยไม่ได้ปล่อยเสรีการกำหนดราคาน้ำมัน เพราะก่อนหน้านี้รัฐเป็นผู้กำหนดราคาไว้ไม่ให้ขึ้นลงทุกวัน แต่หลังเกิดช่วงวิกฤติพลังงานโลก ปี 2515-2516 รัฐไม่ได้เตรียมตัว ไม่มีเงินทุนสำรองเตรียมรับมือกรณีนี้ และไม่มีคลังน้ำมันสำรอง จึงมีมติคณะรัฐมนตรีปล่อยราคาน้ำมันในประเทศให้ขึ้นลงตามตลาดโลก แต่ไม่ใช่ให้กำหนดราคาเสรี ซึ่งหากมีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเมื่อไหร่ ระบบบริหารจัดการก็จะกลับมาอยู่ที่รัฐเหมือนเดิม” นายพีระพันธุ์ กล่าว

การใช้เงินบริหารจัดการแบบกองทุนน้ำมันฯ ของไทย ตามหลักการแล้วควรนำมาใช้เพียงระยะสั้น ๆ แต่ไทยกลับใช้ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 50 ปี ซึ่งตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะเงินด้อยค่าลงทุกวัน ทำให้ต้องเก็บเงินจากการซื้อขายน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นตามไปด้วย สรุปคือ สุดท้ายประชาชนเดือดร้อนทั้งขึ้นทั้งล่อง การใช้เงินมารักษาระดับราคาน้ำมันจึงสวนทางกับภารกิจของกระทรวงพลังงาน “เงินในจำนวนเดียวกันทุกวันนี้ค่าของเงินจะน้อยลงเมื่อเทียบกับแต่ก่อนแต่ค่าน้ำมันมีแต่ราคาสูงขึ้น สวนทางกับค่าเงิน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ กลายเป็นหนี้สินไม่ใช่ทรัพย์สิน” นายพีระพันธุ์ พยายามชี้ให้เห็นข้อด้อยของการเก็บเงินเข้าออกกองทุนน้ำมันฯ อย่างทุกวันนี้

เมื่อศึกษาลงไปพบว่า ในกรณีค่าไฟฟ้าจะมีการปรับทุก 4 เดือน ไม่ปรับเป็นรายวันเหมือนราคาน้ำมัน ทั้งๆ ที่ไฟฟ้าก็ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและมีการปรับราคาขึ้นลงตามตลาดโลกเหมือนน้ำมัน แต่กลับไม่ต้องปรับราคาค่าไฟฟ้าเป็นรายวัน โดยนำราคาในตลาดโลกมาหาค่าเฉลี่ยทุก 4 เดือน แล้วปรับค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน ตามค่าเฉลี่ยได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีกฎหมายกำกับกิจการไฟฟ้ามาเป็นตัวควบคุม ทำให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจกำกับดูแล คือ กกพ. ในขณะที่การจำหน่ายน้ำมันกลับไม่เคยมีกฎหมายเช่นนี้ ปล่อยให้การขึ้นลงราคาน้ำมันเป็นอำนาจของผู้ค้าน้ำมันและทำได้ทุกวันตามอำเภอใจตลอดมา จึงเห็นว่า การค้าขายน้ำมันก็ควรมีกฎหมายที่เป็นกฎกติกาที่สามารถกำกับดูแลและตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมกับประชาชนเช่นเดียวกับไฟฟ้า นี่เป็นเรื่องแรกที่ต้องทำ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งตรวจร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ทำต้นร่างเสร็จแล้ว

เรื่องที่สองคือ เรื่องการควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซในประเทศและการสำรองน้ำมันและก๊าซของประเทศ ไม่ใช่ของภาคเอกชนที่เป็นพ่อค้านักธุรกิจแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีสำรองน้ำมันเฉลี่ยรวมกันเพียงประมาณ 20 กว่าวัน ในขณะที่กติกาของ IEA ต้องมีสำรองน้ำมันประมาณ 90 วัน เรียกว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Petrolium Reserve (SPR) ไม่ใช่สำรองเพื่อการค้า ซึ่งเราจะต้องมีระบบนี้มาแทนระบบกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินมาเป็นทุนสำรองและเมื่อเรามีสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เราจะไม่ปล่อยให้เป็นเพียงการเก็บสำรองน้ำมันไว้เฉยๆ แต่เราจะนำน้ำมันสำรองนี้มาหมุนเวียนโดยนำมาใช้กำหนดหรือรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศผ่านกองทุนที่อาจจะเปลี่ยนจากกองทุนน้ำมันฯ เป็น “กองทุนน้ำมันสำรองเพี่อความมั่นคง” ควบคู่กันไป

รูปแบบนี้จะทำให้เราสามารถเผชิญกับวิกฤติน้ำมันหรือพลังงาน เช่น ในกรณียูเครนและความขัดแย้งในตะวันออกกลางในปัจจุบันได้ดีกว่ารูปแบบปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดการได้มาของน้ำมันสำรองนี้ หรือการเก็บรักษาได้คิดและศึกษาไว้หมดแล้ว จะทำให้ประเทศเก็บน้ำมันเข้ากองทุนฯ แทนเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยคาดว่าปลายปีนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการกำหนดราคาน้ำมันจะเสร็จสิ้น และกฎหมายสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ SPR จะเสร็จตามมาประมาณต้นปี 2568

“สงครามในปัจจุบัน เป็นเหตุผลที่ต้องให้มีสำรองน้ำมันของรัฐ เมื่อไหร่ที่เรามีกฎหมายสำรองน้ำมัน เราหามาได้ก็เข้าคลังสำรองน้ำมันของรัฐ เราวางระบบไว้ให้ถูกต้องก็จะมีความมั่นคงด้านน้ำมันและก๊าซและการควบคุมราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งเฉลี่ยการใช้น้ำมันของประเทศรวมกว่า 100 ล้านลิตรต่อวัน คำนวณ 1 ปี ตามสัดส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในปัจจุบัน รัฐน่ามีน้ำมันสำรอง ไม่ต่ำกว่า ปีละ 3,650 ล้านลิตร จะเป็นการช่วยประชาชนหลุดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนราคาตลาดโลก กำไร ขาดทุน เป็นเรื่องของรัฐกับผู้ค้าน้ำมัน ที่ต้องบริหารจัดการร่วมกันผ่านระบบกองทุนน้ำมันและก๊าซสำรองฯ” นายพีระพันธุ์ สรุป

ในปี 2568 น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่จะมีแรงกระเพื่อมในแวดวงพลังงานอย่างมาก โดยเฉพาะผลจากการเสนอกฎหมายต่าง ๆ เพื่อปรับโครงสร้างพลังงานที่ใช้กันมายาวนาน 50 ปี อย่างที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ประกาศชัด

แชร์โพสต์ :

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top