หน้าแรก ข่าวสารพลังงาน ภาคเอกชนรับมือแผน “แผนพลังงานชาติ” ปตท.นำร่องโครงการ CCS – ลุ้นรัฐหนุน “กรีนไฮโดรเจน”

ภาคเอกชนรับมือแผน “แผนพลังงานชาติ” ปตท.นำร่องโครงการ CCS – ลุ้นรัฐหนุน “กรีนไฮโดรเจน”

ภาคเอกชนรับมือแผน “แผนพลังงานชาติ” ปตท.นำร่องโครงการ CCS - ลุ้นรัฐหนุน “กรีนไฮโดรเจน”

          การเกิดอุทกภัยที่รุนแรงในหลายจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย รวมทั้งภัยพิบัติต่างๆในอีกหลายประเทศทั่วโลก เปิดจากปัญหาClimate Change ซึ่งมีการระบุว่าประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุดและนับวันจะทวีความรุนแรงแรงขึ้น หากทุกคนยังไม่ตระหนักถึงปัญหาโลกเดือด

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 20 ของโลกจากทั้งหมด198 ประเทศ ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานถึงร้อยละ 70 จากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งรวมกัน ในเมื่อไม่สามารถเลิกใช้พลังงานได้ ดังนั้นจำเป็นต้องใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต้องมีแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถบริหารจัดการได้เอง ช่วยลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมในระบบ ซึ่งกระทรวงพลัวงานอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎระเบียบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในการผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 รวมทั้งให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาดสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสะอาดกับผู้ผลิตไฟฟ้าได้เอง เบื้องต้นโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA)ราว 2พันเมกะวัตต์รองรับทุนข้ามชาติกลุ่มDATA Center คาดว่าเงื่อนไขกฎระเบียบDirect PPA จะมีความชัดเจนในต้นปี2568

แผนพลังงานชาติชงครม.ปลายปี67

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan:NEP) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 62 แห่งที่เราได้จัดส่งไป หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาทบทวนก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตามลำดับภายในปลายปี 2567 โดยแผนพลังงานชาติ จะประกอบด้วย 5แผนหลักคือ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยแผนPDPได้รับความสนใจและมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นแต่ก็กังวลด้านราคาค่าไฟฟ้า การลงทุนSmart Grids รวมถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับSMR ฯลฯ เนื่องจากSector พลังงานมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero greenhouse gas emissions) ในปี พ.ศ. 2608 จำเป็นต้องเร่งส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล แม้ว่าพลังงานทดแทนจะมีราคาถูกลงแต่ก็มีข้อจำกัดด้านเสถียรภาพ ทำให้ไม่สามารถผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนได้ทั้ง100% เพราะต้องมีการก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดเพื่อรักษาระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศอยู่จนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลง รวมทั้งการผลิตพลังงานไฮโดรเจนและแอมโมเนียมีต้นทุนที่ต่ำ ทั้งนี้ ร่างแผน PDP มีหลายประเด็นที่ยังต้องพิจารณาทั้งปริมาณสำรองไฟฟ้า ค่าพยากรณ์ไฟฟ้า รวมถึงกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีพ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) จึงมีแผนขยับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ให้เข้าสู่ระบบเร็วขึ้นอยู่ในช่วงก่อนปีพ.ศ. 2573 ประมาณ 2,000เมกะวัตต์ จากเดิมที่จะเข้าสู่ระบบปริมาณมากในช่วงปีพ.ศ. 2575 และปีพ.ศ. 2578 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาพลังงาน แต่ต้องพิจารณาในเรื่องความพร้อมของสายส่ง และความมั่นคง ซึ่งต้องมีการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน(ESS)ด้วย สำหรับภาคอุตสาหกรรมก็ต้องเร่งปรับตัวอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เร่งลดการปล่อยคาร์บอน เพราะไม่สามารถนำคาร์บอนเครดิตมาเพื่อมารับรองการลดการปล่อยคาร์บอนได้ในตลาดอียู จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องลดการปล่อยคาร์บอนเองเท่านั้น มิฉะนั้นจะเจอการเก็บภาษีเพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งทำให้การแข่งขันลำบากขึ้น ดังนั้นภาครัฐมีแนวทางส่งเสริมให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปใช้เอง รวมทั้งการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ทั้งนี้ แผนพลังงานชาติ จึงมีกรอบที่ชัดเจนเพื่อตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พร้อมหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 50 เนื่องจากข้อจำกัดด้านเสถียรภาพทำให้ต้องมีการใช้แบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงาน, ส่งเสริมภาคขนส่งในการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่าร้อยละ 30 – 40 เป็นต้น และหากยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยังมีพระเอกที่มีบทบาทในอนาคตคือ โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งขณะนี้กลุ่มปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปในทำโครงการCCS มีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่EECมากักเก็บไว้ในหลุมปิโตรเลียมที่ว่างในแหล่งอาทิตย์ เบื้องต้นคาดว่าจะกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1 ล้านตัน รวมทั้งศึกษาโครงการCCSในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยองด้วย ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน ทำให้การเดินหน้าโครงการCCS เป็นไปค่อนข้างล่าช้าเพราะติดกฎระเบียบ ข้อกฎหมายจากหลายหน่วยงาน โดยปตท.ได้มอบหมายให้บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)หรือปตท.สผ.เป็นแกนนำเพื่อเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 และยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและของประเทศ

แชร์โพสต์ :

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top