หน้าแรก ข่าวสารพลังงาน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” บันได 5 ขั้น รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง สังคายนา “พลังงาน” ยุคใหม่

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” บันได 5 ขั้น รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง สังคายนา “พลังงาน” ยุคใหม่

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” บันได 5 ขั้น รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง สังคายนา “พลังงาน” ยุคใหม่

         “ผมไม่เคยกลัวอิทธิพลอะไรและไม่อยู่ใต้อิทธิพลอะไรทั้งนั้น มิฉะนั้น ผมคงไม่สามาถดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ ผมทํางานในทางการเมืองมา 30 ปี ไม่เคยกลัวอะไร และไม่เคยมีผลประโยชน์ส่วนตัว ผมทําทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติบ้านเมืองเท่านั้น”
หนึ่งในคำกล่าวกล่าวของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลังทำงานครบ 1 ปี

ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็สร้างความหวังใหม่ให้กับคนไทยด้วยนโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง สังคายนาโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ

และในโอกาสครบ 1 ปี จึงถือโอกาสบอกเล่าการทำงานโดยสรุปว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปแล้ว และกำลังทำอะไรอยู่ แล้วจะต้องทำอะไรต่อไป เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืนด้านพลังงาน ตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ที่ได้วางเป้าหมายไว้เป็นบันได 5 ขั้น

ขั้นที่ 1 ตรึงราคาพลังงาน

สำหรับ ‘บันไดขั้นที่ 1’ ซึ่งเป็นช่วง 6 เดือนแรกที่เข้ามากำกับดูแลกระทรวงพลังงาน ได้เร่งแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ด้วยการตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซหุงต้ม ขณะเดียวกัน ก็เตรียมหาช่องทางที่จะรื้อระบบพลังงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานานไม่ต่ำกว่า 40 ปี โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำมัน
โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนแรก ในการศึกษาปัญหาและค้นหาวิธีการที่จะรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานไม่เคยรู้ และทุกฝ่ายบอกว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีอํานาจ และการจะมีอํานาจก็ต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ

ขั้นที่ 2 แก้กฎหมายราคาน้ำมัน

หลังจากได้ศึกษากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด เพื่อให้รู้ต้นทุนราคาน้ำมัน จนพบช่องทางที่แฝงอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน นำมาสู่การดำเนินงาน ‘บันไดขั้นที่ 2’ คือ การออกประกาศกระทรวงพลังงาน กําหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน เป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี
โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

ขั้นที่ 3 รื้อระบบการค้าน้ำมัน

การรู้ต้นทุนราคาน้ำมัน ทำให้รู้ปัญหาที่จะต้องแก้ไข และนำไปดำเนินการต่อใน ‘บันไดขั้นที่ 3’ คือ การรื้อระบบการค้าน้ำมัน ซึ่งต้องรวบรวมข้อมูลมากมาย เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการและการยกร่างกฎหมายใหม่ให้ครบวงจรตามเป้าหมาย
และตอนนี้ได้ยกร่างต้นฉบับกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ “บันไดขั้นที่ 5” เสร็จแล้ว ต้นร่างมีทั้งหมด 180 มาตรา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและพลังงาน
โดยกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งหมายถึงระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนการอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ
และมีอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน กฎหมายฉบับนี้จะดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย

อีกเรื่องที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ก็คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง เพราะนี่คือการค้าเสรีอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเอง
ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาจำหน่ายหน้าปั๊ม ก็ให้ทำได้เลย จะทำให้ต้นทุนน้ำมันของเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการขนส่งลดลงได้ทันที เมื่อผู้ประกอบการสามารถหาน้ำมันมาเองได้ในราคาถูก และไม่ต้องมาเสีย VAT 2 ช่วง ต้นทุนของผู้ประกอบการในเรื่องน้ำมันก็จะลดลง
และเมื่อลดภาระเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ก็ต้องลดราคาสินค้าให้ประชาชนด้วย นอกจากนั้น ยังจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในเรื่องราคาน้ำมันด้วย

“กฎหมายฉบับนี้ ผมร่างเองทั้งหมด เริ่มทำตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 หลังจากที่ได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งผมใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตี 3 แทบทุกคืน เพื่อร่างกฎหมายฉบับนี้” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าว

ขั้นที่ 4 ปรับระบบสำรองน้ำมัน

มาถึง ‘บันไดขั้นที่ 4’ ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) โดยจะนำระบบนี้มารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง
โดยกำลังจัดเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสํารองน้ำมันของประเทศ ซึ่งจะนำน้ำมันสำรองนี้ มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันฯ

“ผมจะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศ ต่อไปกองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสํารองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศ ไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มต้นทำเรื่องนี้แล้ว และเป็นที่น่ายินดีที่ผมนำเรื่องนี้หารือกับทางซาอุดิอาระเบียในช่วงที่เดินทางไปประชุม
ทางซาอุฯ
เขาเห็นด้วยในหลักการที่จะสนับสนุน พร้อมๆ กับเรื่องการลงทุนด้านการผลิตไฮโดรเจนที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตอีกอย่างหนึ่ง”

ขั้นที่ 5 สร้างพลังงานยุคใหม่

ปัจจุบันกำลังเดินหน้าสู่ ‘บันไดขั้นที่ 5’ นั่นคือ การออกกฎหมายสร้างระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ และกฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งเพิ่มกฎหมายอีกหนึ่งฉบับคือกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์
เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

“ณ วันนี้ แนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ระบบพลังงาน ตามเป้าหมายบันได 5 ขั้นของผม ได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว 3 ขั้น และผมกำลังเร่งดำเนินการในขั้นที่ 4 ไปพร้อมๆ กับเตรียมการในขั้นที่ 5 เพื่อให้ประเทศของเรามีความมั่นคงด้านพลังงาน และเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้พลังงานเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรม
ไม่ต้องแบกภาระความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันก็จะได้รับการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย”

ในส่วนของราคาค่าไฟฟ้า ยังคงรักษานโยบายที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยในช่วงแรกที่เข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีพลังงาน ได้ปรับราคาค่าไฟฟ้าให้ลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับประชาชนทั่วไป
เนื่องจากราคาก๊าซในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน ก็ยังใช้ไฟฟ้าที่ราคา 3.99 บาทต่อหน่วยเหมือนเดิม

“ผมได้ดำเนินการบริหารจัดการในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เราสามารถตรึงราคาค่าไฟไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับโยกการกำหนดราคาก๊าซจากอ่าวไทยให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะที่ผ่านมา ได้มีการนำก๊าซที่ขุดได้จากอ่าวไทยจํานวนหนึ่ง
ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ซื้อขายในราคาเดียวกับก๊าซหุงต้มของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นการกําหนดราคาแบบไม่ถูกต้อง และไม่มีใครคิดจะลงมือแก้ไขทั้งๆ ที่ทราบปัญหา ผมจึงดำเนินการแก้ปัญหานี้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2567
ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราสามารถตรึงค่าไฟไว้ได้ที่ 4.18 บาทและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน”

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ไฟในราคาที่ถูกลงอย่างยั่งยืนคือ การใช้พลังงานสะอาดมาทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ที่เรียกว่า Solar Rooftop แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและทําให้เกิดปัญหามาตลอดคือ
ความยุ่งยากในเรื่องของการติดตั้งและการขออนุญาต จึงเตรียมออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อกํากับดูแลให้การติดตั้งระบบ Solar บนหลังคาบ้าน สามารถทำได้สะดวกและง่ายขึ้น โดยคาดว่าจะเสร็จพร้อมๆ กับกฎหมายน้ำมันภายในปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน
และจะมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop รวมทั้งการหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีในกฎหมายนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมอบนโยบายให้กระทรวงพลังงาน สนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop รวมทั้งแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนในราคาถูก ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลอง และเบื้องต้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
โดยระบบนี้สามารถใช้กับเครื่องแอร์ได้ 3 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง ประกอบด้วยแผงโซลาร์ราคาไม่เกิน 10,000 บาท เครื่อง inverter ราคาไม่น่าเกิน 8,000 บาท และแบตเตอร์รี่ไม่น่าเกิน 12,000 บาท ทั้งหมดนี้น่าจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท ซึ่งจะเป็นราคาต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าบริหารจัดการ แต่สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

“ผมมั่นใจว่าในรอบปีที่ 2 ที่ผมดูแลกระทรวงพลังงาน จะมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาจำหน่ายให้แก่พี่น้องประชาชนในราคาถูก ซึ่งจะลดและปลดภาระพี่น้องประชาชนให้หลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพงได้ ตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ผมพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อพี่น้องประชาชน
โดยหวังว่าจะสามารถ รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ส่วนที่เหลือทั้งหมดให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปีนับจากนี้ ขอให้มั่นใจว่าผมจะพยายามปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของพลังงานให้ดีที่สุด และขอเรียนอีกครั้งว่า ผมไม่เคยกลัวอิทธิพลอะไรและไม่อยู่ใต้อิทธิพลอะไรทั้งนั้น
มิฉะนั้น ผมคงไม่สามาถดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ ผมทํางานในทางการเมืองมา 30 ปี ไม่เคยกลัวอะไร และไม่เคยมีผลประโยชน์ส่วนตัว ผมทําทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติบ้านเมืองเท่านั้น อะไรทําได้ผมก็ทํา
อะไรทําไม่ได้ผมก็จะพยายามทำให้ได้ และจะทำให้ถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน และขอให้พี่น้องประชาชนช่วยเป็นผนังกําแพงให้ผมพิง เพื่อทำงานสำคัญนี้ให้สำเร็จด้วย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปิดท้าย

แชร์โพสต์ :

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top