หน้าแรก ข่าวสารพลังงาน เอกชนเคว้งจ่อเลิกอุ้ม “ไบโอดีเซล” ปี’69

เอกชนเคว้งจ่อเลิกอุ้ม “ไบโอดีเซล” ปี’69

เอกชนเคว้งจ่อเลิกอุ้ม “ไบโอดีเซล” ปี’69

         จับตานโยบาย กพช. จ่อเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผสมเชื้อเพลิงชีวภาพอีก 2 ปี “ผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย” เล็งปรับแผน-เบรกลงทุนรอความชัดเจน หวังรัฐพิจารณาผลรอบด้าน ทั้งประโยชน์ต่อรายได้เกษตรกร-การเปลี่ยนผ่านพลังงานทดแทนมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ของไทย

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี
จากเดิมที่จะหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2567 ว่ามาตรการนี้ส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจและเกษตรกร เพราะภาคธุรกิจต้องติดตามการกำหนดนโยบายของภาครัฐ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนดำเนินธุรกิจในอนาคต

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา นโยบายภาครัฐให้การสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลมาโดยตลอด เพื่อรักษาสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์สงครามในรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้ราคาพืชเกษตรและน้ำมันจากพืชชนิดต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น แต่ภาครัฐก็ยังคงรักษาการใช้นโยบายนี้ไว้
เพื่อช่วยเหลือภาคการผลิตและเกษตรกรให้ตลาดรองรับผลผลิต

แต่ด้วย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่าง ๆ และน้ำมันดีเซล B7 และดีเซล B20 ตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ขอขยายเวลาที่จะการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาแล้ว 1 ครั้ง
สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 2567 มาจนถึงครั้งนี้ ที่ขอขยายเวลาครั้งที่ 2 ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้าย โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 อาจจะไม่สามารถต่อระยะเวลาไปได้อีก

ประกอบกับล่าสุดกระทรวงพลังงานมีนโยบายจะยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากมองว่าการดำเนินงานของกองทุนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และการนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซลทำให้กองทุนติดลบอย่างมาก จากที่หลายฝ่ายมองว่าการชดเชยราคาน้ำมันไบโอดีเซล
ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตจากพืชที่มีราคาสูงจนกระทบต่อต้นทุนของค่าขนส่งนั้น

ซึ่งต้องอธิบายว่า กลไกในการกำหนดราคาไบโอดีเซล ทั้งหมดอ้างอิงมาจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยและราคาในตลาดโลกใกล้เคียงกัน โดยปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ย 33 บาท/ลิตร ส่วนไบโอดีเซลจะอยู่ที่ 34 บาทบวกลบ
แนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบต้องอ้างอิงตลาดโลก เพราะเราส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ประมาณ 1 ใน 3 ส่วนที่ผลิตได้.

ส่วนที่มองว่ามาตรการดูแลราคาน้ำมันที่ภาครัฐใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยนั้น “ไม่ได้” เข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันโดยตรง แต่ใช้วิธีเก็บเงินเข้ากองทุนในระดับที่แตกต่างกันสำหรับน้ำมันแต่ละประเภท เพื่อให้ราคาน้ำมันขายปลีกปลายทางไม่เท่ากัน เช่น หากต้องการส่งเสริมน้ำมันดีเซล B10
เก็บเงินจากน้ำมันไบโอดีเซล B10 น้อยกว่า B7 ซึ่งก็จะทำให้ B10 มีราคาถูกกว่า B7 เป็นต้น

“ไทยจะลดการใช้ไบโอดีเซล ขณะที่หากเราดูภาพรวมทั้งโลกต่างส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลมากขึ้น จนปัจจุบันไปถึง B35 และกำลังจะใช้ B50 ในปีหน้า ทั้งอเมริกา บราซิล และจีน ทุกประเทศเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลทั้งหมด เพราะไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนที่จะเป็นอาวุธหนึ่งในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่แต่ละประเทศได้ไปให้ความผูกพันไว้ในความตกลงปารีส กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้ประเทศต่าง ๆ มุ่งหน้าไปอย่างนี้ ส่วนไทยหากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีหน้า ก็จะต้องรอดูทิศทางนโยบายในเรื่องพลังงานทดแทนอย่างไรต่อ”

และที่สำคัญการส่งเสริมไบโอดีเซลยังส่งผลดีในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ตามหลัก Multiplier คือเมื่อเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ก็มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น แต่หากเราไม่มีการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
อาจจะทําให้การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแต่ละประเทศทําได้ยากมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปี ก่อนสิ้นสุดมาตรการ รัฐยังสามารถใช้กลไกกองทุนน้ำมันในการดูแลราคาได้ แต่ควรสร้างกลไกตลาด เพื่อสนับสนุนเรื่องพลังงานทดแทนเมื่อสิ้นสุดการขยายระยะเวลาครั้งสุดท้ายในปี 2569 เพราะหากไม่มีกระบวนการผลิตอื่น ๆ มาช่วย เราก็จะไม่มีอาวุธที่จะขับเคลื่อน เช่น ถ้าภาครัฐต้องการให้ใช้ไบโอดีเซลมากขึ้น
ซึ่งมี 2 เกรด ต่อให้ตัวผสมเยอะถูกกว่าก็จะไม่มีกลไกมารองรับ

“เรามีความคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีนโยบายที่สามารถสร้างสมดุลทั้งระหว่างกลไกราคา ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้วางแผนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ หากนโยบายมีการปรับเปลี่ยนทิศทาง เอกชนก็ต้องปรับแผนการดำเนินงานด้วย ภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนในพลังงานทดแทนอาจจะต้องทบทวนหรือหยุดแผนไว้ก่อน”

แชร์โพสต์ :

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top