
สหรัฐฯ เตรียมชี้ขาดอัตราภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนมิถุนายนนี้ กัมพูชาถูกตั้งภาษีรวมสูงสุดถึง 3,521% ไทยเผชิญ 972%
สหรัฐฯเตรียมชี้ขาดอัตราภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนมิถุนายนนี้หลังจากรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีการค้าชุดใหม่ ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะบริษัทจากกัมพูชา ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม รวม 29 ราย ซึ่งกำลังเผชิญแรงกดดันจากข้อกล่าวหาว่าเป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทจีนในการทุ่มตลาดแผงโซลาร์ในสหรัฐฯ ด้วยราคาต่ำและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีน ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ประกาศมาตรการจัดเก็บภาษี โดยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การผลิต กัมพูชาถูกตั้งภาษีรวมสูงสุดถึง 3,521% เนื่องจากไม่ให้ความร่วมมือในการสืบสวน ขณะที่ไทยต้องเผชิญภาษีสูงสุด 972% มาเลเซียระหว่าง 15%-205% และเวียดนามถึง 814% โดยกรณีของ Jinko Solar บริษัทผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีฐานการผลิตในมาเลเซีย ถูกตั้งภาษีมากกว่า 40%
สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์แห่งสหรัฐฯ วิจารณ์นโยบายนี้ว่า สวนทางกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดภายในประเทศเพราะจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นและกระทบผู้ประกอบการภายในสหรัฐฯมาตรการนี้จะยังต้องรอการยืนยันจากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ผลกระทบที่ตามมาจะไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังจะกระทบผู้บริโภคและผู้ประกอบการในสหรัฐฯ โดยขณะนี้อัตราภาษีเฉลี่ยนำเข้าของสหรัฐฯ พุ่งสูงถึง 28% จากเดิมที่อยู่เพียง2%ในยุคอดีตประธานาธิบดีไบเดนมีเสียงวิพากวิจารณ์ว่าแรงจูงใจเบื้องหลังนโยบายภาษีเหล่านี้อาจไม่ได้อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจอย่างแท้จริงหากเป็นการใช้กลยุทธ์กดดันประเทศกำลังพัฒนาให้ลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนหรือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดซึ่งทรัมป์เคยแสดงจุดยืนตั้งแต่สมัยแรกของการเป็นประธานาธิบดีทั้งการถอนตัวจากความตกลงปารีส การส่งเสริมเชื้อเพลิงฟอสซิล และการลดบทบาทกฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศท่ามกลางแรงกดดัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า อาจเป็นโอกาสแฝงที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรมจากผู้ผลิตราคาถูกไปสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีสะอาดขั้นสูงโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่กำลังมีความต้องการพลังงานสะอาดสูง เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้
ลอรี มิลลิวีร์ตา จากศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) ระบุว่า ตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 7% ของตลาดติดตั้งโซลาร์ใหม่ทั่วโลก ขณะที่ตลาดเกิดใหม่จะครองสัดส่วนถึง 70% ภายในปี 2030 หมายความว่า การปรับตัวและขยายตลาดคือกุญแจสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซียเริ่มนำเข้าแผงโซลาร์จากลาวมากขึ้นกว่า 4,800% แสดงให้เห็นถึงโอกาสของการค้าในภูมิภาค นอกจากนี้ ประเทศในอาเซียนยังเริ่มเดินหน้าหารือร่วมกัน โดยมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ได้เริ่มต้นเจรจากับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และสิงคโปร์ เพื่อหาแนวทางรองรับผลกระทบและเร่งสร้างระบบพลังงานสะอาดในภูมิภาค
สำหรับความเคลื่อนไหวของประเทศไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ประเทศไทยตั้งเป้าลดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ผ่านข้อเสนอในการปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ รวมถึงการนำเข้า LNG และเครื่องบินจากสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลดภาษี ขณะที่ภาคเอกชนไทยเตรียมลงทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ ในสาขาพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นักวิเคราะห์หลายองค์กรระบุว่า แทนที่ประเทศในเอเชียจะยอมจำนนต่อแรงกดดันของสหรัฐฯ ด้วยการเซ็นสัญญา LNG ระยะยาวที่มีราคาแพงและเสี่ยงสูง ควรเร่งพัฒนาตลาดพลังงานสะอาดในประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และแบตเตอรี่ ซึ่งไม่เพียงลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาพลังงานโลก แต่ยังช่วยสร้างฐานอุตสาหกรรมที่มั่นคงในระยะยาว จีนเองก็ไม่พลาดโอกาสนี้ โดยผู้นำประเทศเร่งเดินสายทำข้อตกลงเศรษฐกิจกับอาเซียน พร้อมโปรโมทเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในราคาที่แข่งขันได้ขณะเดียวกันจีนยังเป็นต้นแบบของการเร่งติดตั้งแผงโซลาร์ในประเทศเมื่อทศวรรษก่อน