
กลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด บุรีรัมย์ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนยกเลิกโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ต.หนองปล่อง อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ จี้พับเวที ค.1 ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม
กลุ่มประชาชนในนาม กลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด อำเภอชำนิ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาลผ่านนายพันศักดิ์ เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มารับหนังสือ โดยในหนังสือได้มีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนยกเลิกโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ต.หนองปล่อง อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์
ด้านนายสมพงษ์ สงกูล กรรมการกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด ได้กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพราะว่า ในพื้นที่ ต.หนองปล่อง อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการสร้างโรงงานน้ำตาลกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 54 เมกกะวัตต์ จนเกิดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2568 การเคลื่อนไหวคัดค้านโรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็เนื่องจากเพื่อปกป้องบ้านเกิด ปกป้องสิทธิชุมชน ที่ผ่านมาทางกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด ได้ศึกษาบทเรียนผลกระทบจากการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ภาคอีสานที่มีการจัดตั้งโรงงานแล้วนั้น สามารถสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่พบว่าหากมีการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่หนองปล่องจริงจะส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพร่างกายของประชาชน และด้านสิ่งแวดล้อมด้วย อาทิเช่น ฝุ่น PM2.5 , ปัญหาการจราจรของรถบรรทุกอ้อยวิ่งผ่านหมู่บ้าน , การปนเปื้อนของมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค และการเกษตร ตลอดจนการแย่งชิงทรัพยากรน้ำเพื่อใช้ในโรงงาน เป็นต้น
ด้านนายชัยพร มะลิวรรณ กรรมการกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลมาก่อน ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและไม่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายตั้งแต่เริ่มต้น ในขณะพื้นที่ที่จะถูกจัดตั้งโรงงานดังกล่าวอยู่ติดห้วยลำปะเทียของชุมชนที่ได้พึ่งพาอาศัยหาอยู่หากินและการจัดตั้งโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตรยังครอบคลุม 6 ตำบล เบื้องต้น ที่มีหมู่บ้าน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และพื้นที่ที่จะจัดตั้งโรงงานจึงเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีโรงงานน้ำตาลอยู่แล้ว 1 แห่ง การสร้างเพิ่มนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต่อพื้นที่แต่อย่างใด แต่ควรจะเปิดลานรับซื้ออ้อยเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ครั้งที่ 1 ชาวบ้านในพื้นที่ก็มิได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด และชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างครบทุกด้าน ตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
“ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องมายังท่านนายกรัฐมนตรีดังนี้ 1.ให้ทบทวนยกเลิกโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ตำบลหนองปล่อง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ 2.ให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน และไม่มีส่วนร่วม 3.ให้แต่ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อศึกษาและประเมินศักยภาพของพื้นที่ เพื่อจะได้กำหนดการพัฒนาที่สอดคล้องกับพื้นที่และวิถีชีวิตชุมชนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวแทนกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิดและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 4.ให้รัฐจัดซื้อที่ดินบริเวณที่บริษัทกว้านซื้อ เพื่อนำมาจัดทำแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน” นายชัยพร ระบุ
ด้านนายพันศักดิ์ เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากรับหนังสือก็จะสรุปแล้วส่งต่อให้เลขานายกรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงข้อเสนอของกลุ่มที่มายื่น.