![](https://enconfund.go.th/wp-content/uploads/2024/10/News43.jpg)
IEA ทำนาย “จีน+รถอีวี” ทุบราคาน้ำมัน-ก๊าซร่วง ?
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ออกรายงานล่าสุดระบุว่า การที่ทั่วโลกเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในจีน อาจทำให้ตลาดน้ำมันชะงัก เพราะปัจจุบันยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในจีน 40% เป็นรถอีวี และในระดับโลกยอดจำหน่ายรถยนต์อีวีก็มีสัดส่วน 20% ของยอดขายทั้งหมด แนวโน้มดังกล่าวจะสร้างความลำบากให้กับผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ของโลก เพราะจีนเคยเป็น ผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ตามการประเมินของไออีเอชี้ว่า หากความนิยมในรถยนต์อีวียังคงเพิ่มขึ้น จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกหายไป วันละ 6 ล้านบาร์เรล ภายในปี 2030 โดยหากคำนวณจากแนวโน้มปัจจุบัน รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ คาดว่ายอดขายรถยนต์อีวีจะมีสัดส่วน 50% ของยอดจำหน่ายทั่วโลก ภายในปี 2030 โดยที่ในปัจจุบัน จีนมีรถยนต์อีวีวิ่งบนท้องถนนคิดเป็น 50%
ของทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว และในปี 2030 เฉพาะในจีนนั้น ยอดขายอีวีจะคิดเป็น 70% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการขยายโครงการพลังงานสะอาด
ก็คือความต้องการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นไปด้วย รวมถึงความต้องการพลังงานที่ผลิตจากการเผาถ่านหิน ทั้งนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตเร็วกว่าที่คาด มีสาเหตุมาจากการบริโภคของภาคอุตสาหกรรมเบา อย่างเช่น อุปกรณ์เคลื่อนที่ไฟฟ้า เครื่องทำความเย็น ดาต้าเซ็นเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) การที่จีนเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้ตลาดน้ำมันชะงัก
แต่บริษัทน้ำมันกลับสามารถขายน้ำมันให้อินเดียได้เพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าภายในปี 2035 อินเดียจะมีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนอาจจะสามารถช่วยชุบชีวิตของผู้ผลิตน้ำมันที่กำลังมองหาตลาดที่จะมาชดเชยการถดถอยได้ ไออีเอเตือนว่า โดยภาพรวมแล้วโลกยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เพราะหากจะรักษาระดับอุณหภูมิโลกให้ใกล้เคียงกับที่มันเคยเป็น
การปล่อยคาร์บอนจะต้องลดลงทุกปี ไม่ใช่ปล่อยให้เพิ่มขึ้นอีกหลายปีข้างหน้าแล้วค่อยลดลง ไออีเอบอกด้วยว่า จากแนวโน้มเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ไฟฟ้าดังกล่าว ความต้องการเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ทั้งน้ำมันและก๊าซจะหยุดการเติบโตภายในทศวรรษนี้ น้ำมันและก๊าซจะล้นตลาด โลกจึงกำลังมุ่งหน้าสู่ยุคน้ำมันราคาถูก เพราะว่าการใช้พลังงานไฟฟ้านำโดยจีนกำลังเร่งตัวขึ้น “โลกจะเข้าสู่บริบทของตลาดพลังงานใหม่ในครึ่งหลังของทศวรรษนี้ มันจะเป็นจุดเปลี่ยนจากภาวะที่ราคาพลังงานพุ่งขึ้นในช่วงแรกของทศวรรษนี้จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งทั่วโลก แต่ตอนนี้ราคาลดลง 20% จากจุดสูงสุดของปีนี้ (2024) ไปอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เชื่อว่าราคาน้ำมันจะอยู่ระหว่าง 75-80 ดอลลาร์ต่อไป” ความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก เติบโตเป็นสองเท่าของความต้องการพลังงานรวมในช่วงทศวรรษที่แล้ว และในช่วง 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6 เท่า โดยมีจีนขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม บางคนในอุตสาหกรรมพลังงาน ไม่เชื่อว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะถึงคราวอัสดง ในเวลาอันใกล้อย่างที่ไออีเอทำนาย เพราะบางบริษัทได้หันกลับไปมุ่งธุรกิจดั้งเดิม หลังจากเปลี่ยนไปเน้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในช่วงสั้น ๆ อย่างเช่น บีพี ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้ยกเลิกเป้าหมายที่จะลดการผลิตน้ำมันและก๊าซภายในปี 2030 ขณะที่นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่า ความต้องการน้ำมันจะยังเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2034 ถึงแม้คำทำนายของไออีเอในครั้งนี้ที่ว่า ความต้องการน้ำมันจะอ่อนตัวลง เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและพิสูจน์ได้ แต่การทำนายที่ผ่านมาก็ผิดพลาดหลายครั้ง อย่างเช่น การทำนายว่า ปริมาณน้ำมันจะตึงตัวเมื่อทศวรรษที่แล้ว หรือการทำนายว่า ผลผลิตน้ำมันรัสเซียจะลดฮวบหลังจากบุกยูเครน