หน้าแรก ข่าวสารพลังงาน เตรียมบุกทำเนียบรัฐบาลต้านโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ชำนิ นักกฏหมายชี้ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ซ้ำร้ายเพิ่มใหม่อีก 58 โรงงาน

เตรียมบุกทำเนียบรัฐบาลต้านโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ชำนิ นักกฏหมายชี้ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ซ้ำร้ายเพิ่มใหม่อีก 58 โรงงาน

      เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ณ วัดบ้านหนองปรือ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด อำเภอชำนิและอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์นโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 200 คน ซึ่งในที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลเรื่องสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญในการแสดงออกของชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดแผนที่จะยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และส่งถึงทำเนียบรัฐบาล
      นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม อีสานใต้ กล่าวว่า นโยบายการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีกกว่า 58 โรงงานทั่วภาคอีสานนั้น เป็นนโยบายที่ถูกกำหนดมาโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลเพื่อไทยชุดปัจจุบันดำเนินการต่อ โดยปัจจุบันภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาลเดิมอยู่แล้ว 20 โรงงาน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงงานเก่านั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซ้ำร้ายการสร้างโรงงานเพิ่มอีกกว่า 58 โรงงานนั้น เหมือนเป็นการซ้ำเติมผลกระทบให้คนอีสาน ซึ่งพื้นที่อำเภอชำนิ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของนโยบายนี้

     “การที่ชาวบ้านออกมาปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม จากภัยคุกคามที่เรียกว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ต้องการที่จะปกป้องบ้านเกิดตัวเอง อีกทั้งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงโครงการ ชาวบ้านยังโดนปิดกั้นข้อมูลเหล่านี้ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิตามกฎหมายที่ชาวบ้านต้องได้รับรู้อีกด้วย”นายภานุพงศ์ กล่าว

      นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามพื้นที่ที่จะมีการดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสานที่ผ่านมา มีข้อสังเกตดังนี้ 1.การเลือกพื้นที่ตั้งไม่เหมาะสมเพราะใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งฐานทรัพยากรชุมชน เช่น ลำห้วย ลำน้ำ เป็นต้น ซึ่งหากพื้นที่ที่ดำเนินโครงการนั้นอยู่ในพื้นที่ระบบนิเวศเฉพาะ ต้องออกแบบการศึกษาเป็นการเฉพาะสอดคล้องกับความจำเพาะของระบบนิเวศ และควรมีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ(Carrying Capacity) ของพื้นที่ นายสิริศักดิ์กล่าวว่า 2.กระบวนการมีส่วนร่วม การกำหนดขอบเขตผู้มีส่วนได้เสียในการเข้าร่วม 3-5 กิโลเมตรนั้นยังไม่ครอบคลุม และสัดส่วนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่จะต้องมีอย่างน้อย 50 % และควรกระจายครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3.เนื้อหาข้อมูลในรายงาน EIA การกำหนดผู้มีส่วนได้เสียไม่ครอบคลุมการเก็บข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ไม่ครอบคลุมครบถ้วน และเมื่อชุมชนให้ข้อมูลก็ไม่นำไปประกอบการศึกษาในทุกประเด็น

   “ แม้กระทั่งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในที่ว่าการอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 31 เมษายนที่ผ่านมา ยังเป็นรูปแบบเดิมของบริษัทที่ปรึกษาที่จัดเวทีโดยชาวบ้านในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรไม่ได้มีส่วนร่วมจริง ผมจึงมีข้อเสนอ เชิงนโยบาย ให้ดำเนินการประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม SEA ทั้งภาคอีสาน หรือทุกพื้นที่และให้ สผ. ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกพื้นที่ ที่ไม่มีส่วนร่วมจริง ซึ่ง สผ. จะต้องตั้งประเด็นการศึกษาในเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ด้วย และการมีส่วนร่วม ก่อนจะมีโครงการหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ควรมีการให้ข้อมูลก่อนการรับฟังความคิดเห็น”นายสิริศักดิ์ กล่าวด้านนายไพฑูรย์ ศรีเนาว์รัตน์ กลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด อำเภอชำนิ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนเสร็จทางกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิดเตรียมลงพื้นที่เก็บข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างคนกับฐานทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นประมาณเดือนพฤษภาคมตัวแทนพี่น้องจะได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์และเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นเหตุผลที่ไม่ควรมีโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่

 

     ด้านนายไพฑูรย์ ศรีเนาว์รัตน์ กลุ่มโอโซนรักบ้านเกิด อำเภอชำนิ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนเสร็จทางกลุ่มโอโซนรักบ้านเกิดเตรียมลงพื้นที่เก็บข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างคนกับฐานทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นประมาณเดือนพฤษภาคมตัวแทนพี่น้องจะได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์และเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นเหตุผลที่ไม่ควรมีโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่

Section Title

แชร์โพสต์ :

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top