
"จตุรงค์ วรวิทย์สุรวัฒนา" ผู้แทนสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตฯ เผยไทยนำเข้าพลังงานจากสหรัฐเป็นจำนวนมาก แนะรัฐบาลปลดล็อกกฏหมายส่งออก LNG ดันไทยขึ้น Hub แทนสิงคโปร์ในอนาคต
ในงานสัมมนาแบบประชุมโต๊ะกลม Roundtable “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy เรื่องผ่ากำแพงภาษี “ทรัมป์” ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ: Out of The Trump’s Uncertainty จัดโดยสื่อในเครือเนชั่น ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ และโพสต์ทูเดย์ ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ วันที่ 9 เมษายน 2568 ช่วงเสวนาหัวข้อ The Great Trade War: กลยุทธ์ไทยสู้ศึกสงครามการค้าโลก
นายจตุรงค์ วรวิทย์สุรวัฒนา ผู้แทนสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางภาครัฐไม่ได้มีความล่าช้ากับการแก้ปัญหาที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีไทย 36% และได้ขอข้อมูลด้านพลังงานเพื่อนำไปจัดการประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา โดยในปี 2567 ประเทศไทยซื้อพลังงานปิโตรเลียมจาก สหรัฐอเมริกาประมาณ 3,756 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังซื้อน้ำมันดิบจากสหรัฐเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ขณะที่การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มีเพียง 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าน้อยมากประเทศไทยถือว่านำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ค่อนข้างเยอะประมาณ 43 ล้านบาร์เรล นำมากลั่นในโรงกลั่นของทั้ง 2 แห่งในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องพยายามบาลานซ์ให้ดีและภาครัฐต้องทำงานเป็นทีม
ขณะเดียวกันดีมานด์ของไทยในการใช้ LNG ก็มีอยู่ประมาณ 10 ล้านตัน ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มาเป็นอันดับ 3 ประมาณ 2 ล้านตัน และนำเข้าจากประเทศอื่นอีก ด้วยการซื้อแบบสัญญาระยะยาวนานนับ 10 ปี การแก้ปัญหาเรื่อง LNG เพื่อให้เกิดความบาลานซ์ จะต้องแก้ที่นโยบายของรัฐบาล เพราะปัจจุบันให้ประเทศไทยสามารถซื้อ LNG ได้ แต่ยังไม่สามารถส่งออกได้ ถ้ารัฐบาลไทยปลดล็อคให้ไทยส่งออกได้ ไทยอาจจะซื้อจากสหรัฐอเมริกาและใช้สัญญาจากประเทศอื่นนำไปขายได้เช่นกัน จะช่วยให้เกิดความบาลานซ์และกลายเป็น LNG Hub แทนสิงคโปร์ได้ในอนาคต
นายจตุรงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังสามารถนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มการกักเก็บได้อีกมาก แต่ภาครัฐจะต้องมีนโยบายสนับสนุน โดยข้อเสนอคือรัฐบาลต้องปลดล็อกกฏหมายส่งออก LNG ได้ ซึ่งปัจจุบันได้ล็อกไว้เพื่อให้เป็นความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่ตอนนี้ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับนโยบายเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคพลังงานกังวลคือผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการใช้พลังงานจะลดลงทุกภาคส่วน ทุกอย่างก็จะกระทบประเทศไทย ทั้งผลิตภัณฑ์พลังงานโดยตรง หรือที่เป็นปิโตรเคมีที่จะเข้ามาตีตลาดในไทย ซึ่งไทยจะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานให้มากขึ้น