
ปชน.จี้ ‘พีระพันธุ์’ แจงเหตุไม่ชะลอสั่งซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟสหนึ่งเหมือนเฟสสอง ทำ ปชช.ต้องจ่ายค่าไฟพุ่งเกินจำเป็น ด้าน ’พีระพันธุ์’ ยอมรับ บ้อท่ากฎหมายไม่ให้อำนาจ อ้างบางส่วนเกิดก่อนเข้ารับตำแหน่ง แต่ส่วนที่เหลือหากสอบพบผิดก็ไม่ปล่อย
เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 10 เมษายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องการรับซื้อพลังงานไฟฟ้า แต่นายกรัฐมนตรี มอบหมายนายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาตอบแทน โดยนายศุภโชติ กล่าวว่า โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานสะอาด 2 เฟสจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ และ 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งตนขอขอบคุณนายพีระพันธ์ุที่มีมติให้ชะลอการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 ออกไปก่อน ตามที่ฝ่ายค้านเคยตั้งกระทู้ถาม จนสามารถหยุดภาระเพิ่มค่าไฟให้ประชาชนได้ชั่วคราว แต่การรับซื้อเฟสแรกที่เราเคยตั้งคำถามเช่นกัน ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับเฟส 2 โดยศาลปกครองเคยวินิจฉัยว่าขบวนการที่เกิดขึ้นในการรับซื้อเฟสแรกส่อให้เกิดการทุจริตทำให้ประเทศและประชาชนเสียหายเพราะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น โดยมีการคำนวณว่าหากมีการปล่อยให้มีการซื้อตามโครงการนี้ ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น 1 แสนล้านบาทตลอด 25 ปี แทนที่จะสั่งให้มีการชะลอการลงนามซื้อขายเหมือนเฟส 2
นายศุภโชติ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นกระแสในสังคม จึงมีการตีเนียนปล่อยผ่าน ไม่เคยมีการขยายการทำงานให้ครอบคลุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับทำตรงกันข้ามให้เอกชนทยอยเซ็นสัญญาซื้อขายแบบเงียบๆ ทั้งที่มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกได้เฉพาะโครงการที่ยังไม่มีการลงนามซื้อขายเท่านั้น เนื่องจากระเบียบระบุชัดว่าหากจะยกเลิกต้องมีมติคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) หากปล่อยให้เอกชนเซ็นสัญญาแล้วจะยกเลิกได้ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย พวกตนถามไปหลายรอบก็แกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน เคยตั้งกระทู้หารือให้ระงับโครงการ แต่ในสัปดาห์เดียวกันกลับให้เอกชนมาลงนามในสัญญาซื้อขายกับภาครัฐอีกหลายรอบเมกะวัตต์ ปัจจุบันเหลืออีกไม่กี่โครงการที่ยังไม่เซ็นสัญญาที่จะสามารถยกเลิกการลงนามได้
นายศุภโชติ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น ตนขอถามว่าทำไมรัฐมนตรีจึงไม่สั่งชะลอการเซ็นสัญญาดังกล่าวเหมือนเฟส 2 ทั้งที่มีปัญหาเหมือนกัน และจะมีคำสั่งให้ยกเลิกซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในส่วนของโครงการที่เหลือหรือไม่ เพราะการกำหนดการจะมีการเซ็นสัญญาทั้งหมดวันที่ 19 เมษายนนี้ และจะเอาอย่างไรกับโครงการที่ลงนามไปแล้ว จะมีการแก้ไขได้หรือไม่ ด้านนายพีระพันธ์ุ ชี้แจงว่า ตนยอมรับว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านเป็นห่วงเป็นสิ่งเดียวกับที่ตนและนายกฯ เป็นห่วงเช่นกันว่าวันหนึ่งหากท่านได้มายืนอยู่ตรงนี้ก็จะรู้ว่ามันไม่ง่าย เพราะไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งอะไรต้องมีกฎหมายให้อำนาจด้วย และยังมีกฎกติกาที่คนอื่นมีอำนาจ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ เหมือนที่ตนเคยพูดว่าปัญหาพลังงานหมักหมมมานานไม่มีใครมาแก้ปัญหาได้ เรามีกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานน้อยมากและแทบจะไม่ให้อำนาจอะไรรัฐมนตรีเลย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาด ขณะนี้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องไฟฟ้า ยกเว้น EGAT จะมีกพช.ดูแล และคณะกรรกมากำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหาเพราะนโยบายอยู่ที่ กพช. แต่ฝ่ายปฏิบัติอยู่ที่ กกพ.ที่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งในอดีตกฎหมายให้อำนาจ กกพ. เพราะคาดการณ์ว่าจะมีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นเอกชน ซึ่งกฎหมายนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่ กพช.เป็นหน่วยงานนโยบายเวลามีปัญหาอะไรก็จะโยนไปให้ กกพ. แต่ไม่เคยมารายงานเพราะไม่มีเคยมีกฎหมายบังคับ หากจะให้แก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าหรือพลังงาน จึงไม่ใช่แก้ที่การประมูลงานแต่ต้องแก้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกฎหมายกำกับ
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตนไม่มีอำนาจอะไรเลย มีแค่อำนาจมาตรา 39 มาตราเดียวในกฎหมายกฟผ.ที่ใช้มาตั้งแต่พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขอยู่ ส่วนการประมูลทั้งสองโครงการที่เอ่ยมา ตนและนายกฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในตอนต้นเลย เพราะดำเนินการในช่วงปี 2565 และ 2566 แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ต้องทำอะไรเลยไม่ได้ หลังจากที่ทราบปัญหานายกฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการของกพช.ขึ้นมา โดยให้ตนเป็นประธานตรวจสอบเรื่อง 2,100 เมกะวัตต์ โดยได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมกฎษฎีกา ซึ่งเขาบอกว่าแม้ กพช.จะมีการประกาศออกมา แต่ยังไม่ทำอะไรเลย ฉะนั้น จึงไม่มีผลกระทบหากจะชะลอไปก่อนเพื่อตรวจสอบ โดยนายกฯ ให้เวลา 60 วัน ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ตนและคณะได้ตรวจสอบมาตลอด
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่อง 5,300 เมกะวัตต์ มีความแตกต่างกันเพราะเมื่อดำเนินการจริงจะอยู่ที่ 4,852 เมกะวัตต์ ขาดหายไป 500 เมกะวัตต์ เพราะเป็นชีวมวล ไม่มีคนประกวดราคา และบางส่วนเป็นปัญหาพื้นที่ไม่มีความพร้อม ในส่วน 4,852 เมกะวัตต์มีทั้งหมด 175 โครงการ แบ่งเป็นของ กฟผ. 94 โครงการ มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว 83 โครงการ และมีการฟ้องร้องจริงแต่ศาลปกครองได้กลับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยศาลปกครองสูงสุดเลยมีการทำสัญญาไปแล้วเหลือประมาณ 19 โครงการซึ่งเป็นส่วนที่นายศุภโชติพูดถึง และตนก็มีความกังวลเพราะกฤษฎีกาบอกว่าแตกต่างจากกรณี 2,100 เมกะวัตต์ ที่ไม่มีรายไหนทำสัญญาเลย กรณี 5,300 เมกะวัตต์ กฟผ.ทำสัญญาไปแล้ว 84 โครงการ หากตนสั่งระงับก็จะมีปัญหาแบบเดียวกับ 2,100 เมกะวัตต์ แต่หากตรวจพบปัญหาขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ในส่วนที่เหลือตนได้แจ้งไปยัง กฟผ.แล้วว่าสัญญาต่างๆ ที่ต้องเซ็นต่อไปนี้หากตรวจพบต้องมีเงื่อนไขในสัญญาว่าโครงการไหนไม่ชอบด้วยกฎระเบียบ กฟผ.ต้องมีสิทธิ์ยกเลิกได้ ยืนยันว่าเป้าหมายเราตรงกันคือจะไม่ปล่อยให้อะไรที่ผิดพลาดเดินหน้าต่อไป หากทำอะไรได้ก็ต้องทำตามเงื่อนไขและอำนาจที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนกฎหมายตัวใหม่กำลังผลักดันให้มีการแก้ไขอยู่