
กล้ามั้ย!! ส.อ.ท.ชี้ทางออกแก้ปัญหาค่าไฟแพง รัฐบาล-กกพ. ต้องกล้าเรียกเอกชนที่ได้สัญญา 5,200 เมกะวัตต์เจรจาราคาใหม่ เหตุเกณฑ์เพี้ยนตั้งแต่ต้น ทำประชาชนแบกค่าไฟแพงไม่รู้จบ!! พร้อมต้องหาคนรับผิดชอบเรื่องนี้
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีพรรคประชาชนระบุว่า การเดินหน้าสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ค่าไฟแพงไปอีก 25 ปี และทางกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ต้องเดินหน้าต่อ เพราะมีการทำสัญญาไปแล้ว ไม่เช่นนั้นจะถูกเอกชนฟ้องได้ว่า ประเด็นนี้มองว่า ถึงกระทรวงพลังงาน จะมองว่า ถูกกฎหมาย แต่ถ้าไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรเดินหน้าต่อ ต้องกล้าคิดที่จะแก้ปัญหา กล้าทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และไม่ต้องเป็นภาระกับประชาชน มองว่า ทางออกที่ดี ควรเรียกเอกชนที่ได้รับสัญญาทั้ง 5,200 เมกะวัตต์มาหารือหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะการตกลงราคากันใหม่ เพราะตอนตกลงราคากันในช่วงนั้นเมื่อปี 65 มองว่า เป็นต้นทุนที่สูง เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ที่ต้นทุนราคาลดลงมามากแล้ว
ทั้งนี้ปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้ง 2 เฟส 5,200 และ 3,600 เมกะวัตต์ ตามที่เป็นข่าวอยู่ ปัญหาคือการบริหารจัดการ ที่สุ่มเสี่ยงต่อเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากช่วงเวลานั้นมีการเร่งรีบดำเนินการในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 66 ทั้งที่ ณ วันนั้น ประเทศของเรา ก็มีโรงไฟฟ้าที่ปริมาณเกินความต้องการ (โอเวอร์ ซัพพลาย) อยู่แล้ว หากรัฐบาลในปัจจุบัน จะมีการเดินหน้าต่อ โดยปราศจากการทบทวน หาทางออกที่เหมาะสมกว่ามุมมองแค่เรื่องถูกกฏหมาย กล้าทำหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งซ้ำเติมค่าไฟฟ้าของประเทศแบบไม่รู้จบ
อย่างไรก็ตามที่สำคัญต้องมาพิจารณาว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนโยบาย หรือฝ่ายกำกับดูแล ในช่วงดังกล่าว น่าจะมีผู้รับผิดชอบเรื่องนี้หรือไม่ เพราะ ปัญหาที่แท้จริง คือ เราไม่ควรจะใช้วิธีรับซื้อไฟฟ้าที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรมต่อประเทศ ซึ่งขณะนั้นจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดให้ใช้ราคาเป้าหมายที่จะรับซื้อ และตัดสินด้วยการให้คะแนนเชิงเทคนิค จากคณะกรรมการคัดเลือก แทนที่จะเป็นการประกวดราคาและตัดสินจากการเลือกราคาผู้เสนอราคาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ที่มีราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ และเป็นวิธีการที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่อิงกับตัวบุคคล ในการให้คะแนน
“จุดนี้คือจุดเริ่มต้นแห่งความผิดพลาดในการบริหาร จนนำไปสู่ปัญหาในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเมื่อฝ่ายนโยบายในยุคปัจจุบัน เห็นปัญหาดังกล่าวแล้ว ก็สมควรที่จะหยุดการดำเนินการใดๆ ไม่ควรจะเดินหน้าแล้วบอกว่าหากผิดกฎหมาย ค่อยมาแก้ไข ไม่ผูกพัน 20-25 ปีหรือไม่ ปัญหาตอนนี้ถึงจะถูกกฎหมายแต่ไม่เหมาะสม ด้วยนโยบาย หรือวิธีการที่สุ่มเสี่ยงต่อความโปร่งใส และยังเป็นภาระต้นทุนของประเทศก็ไม่ควรเดินหน้าใช่ไหม การทบทวนวิธีการ และพูดคุยหาทางออกร่วมกันกับผู้ที่ผ่านเกณฑ์การประมูลแล้ว น่าจะเป็นทางออกที่ควรทำ ซึ่งเป็นข้อเสนอหาทางออกเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และยึดหลักความโปร่งใสเป็นที่ตั้ง การตัดสินใจที่แข่งขันกับเวลา ท่ามกลางปัญหาสารพัดของประเทศ และประชาชนจนแทบจะแบกปัญหา และปล่อยให้มีการสร้างภาระใดๆ ต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว ซึ่งรู้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องกล้าที่จะหาทางออกดู ไม่เช่นนั้นปัญหาค่าไฟแพง ประชาชนก็จะแบกภาระไม่รู้จบ”