หน้าแรก ข่าวสารพลังงาน ปชน.จี้นายกฯเปลี่ยนมติ กพช. ปมซื้อไฟฟ้า เพื่อยกเลิก ไม่ใช่ชะลอ อย่าให้คนแบกค่าไฟแพง

ปชน.จี้นายกฯเปลี่ยนมติ กพช. ปมซื้อไฟฟ้า เพื่อยกเลิก ไม่ใช่ชะลอ อย่าให้คนแบกค่าไฟแพง

‘ปชน.’ จี้ ‘นายกฯ’ เปลี่ยนมติ ‘กพช.’ เพื่อยกเลิก ไม่ใช่ชะลอ หรือรอเอกชนลดราคา ปม ‘ค่าไฟแพง’ หลังเฟสแรกยังเหลืออีก 978.2 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ลงนามสัญญา ซัด ‘พีระพันธุ์’ ทุกข้ออ้างที่ยกมาไม่จริง เหตุข้อมูลไม่ตรงกับที่ ‘หน่วยงาน’ แจง ชี้เกี่ยวโยงความโปร่งใส่ในกระบวนการคัดเลือกผู้ชนะ-ถือว่าละเลยหน้าที่

       เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมแถลงกรณีการตอบกระทู้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศุภโชติกล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงพลังงานซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดในสองรอบ ได้แก่ เฟสแรกจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ และเฟสที่สองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีปัญหาหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ราคาที่รับซื้อไฟฟ้าสูงเกินไป จนทำให้ประชาชนต้องจ่ายทำไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงกระบวนการคัดเลือกผู้ชนะที่มีช่องโหว่และเสียงต่อการทุจริต นายศุภโชติกล่าวต่อว่า การรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนแพงขึ้น เพราะราคาที่ตกลงกันในสัญญาไม่ได้คำนึงถึงการลดลงของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละปี เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลมลดลงอย่างมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การตั้งราคาสูงเกินไป โดยไม่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน จึงทำให้เกิดภาระค่าไฟที่สูงเกินความจำเป็น 
         นายศุภโชติกล่าวว่า ตอนนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเฟสที่สอง 3,600 เมกะวัตต์ ได้ถูกชะลอการลงนามในสัญญาหลังจากที่มีการเรียกร้องจากภาคประชาชน แต่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเฟสแรก 5,200 เมกะวัตต์ ยังคงดำเนินต่อไป โดยที่ไม่มีการชะลอ หรือแก้ไขใดๆ ทั้งที่มีปัญหาเดียวกัน เนื่องจากเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ได้ตอบกระทู้สดของตนในสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะมีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และมีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาหากการลงนามถูกยกเลิกกลางคัน
         นายศุภโชติกล่าวอีกว่า แต่เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงในคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่านายพีระพันธุ์ไม่ได้ทำหนังสือสอบถามจากกฤษฎีกาเกี่ยวกับการชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารอบ 5,200 เมกะวัตต์ แต่เพียงแค่สอบถามเกี่ยวกับการชะลอการรับซื้อไฟฟ้ารอบ 3,600 เมกะวัตต์เท่านั้น ดังนั้น จากการชี้แจงของหน่วยงานนี้คือมีไฟฟ้าอีก 978.2 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา  “รัฐบาลสามารถยกเลิก หรืออย่างน้อยสั่งชะลอการลงนามได้ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากข้อชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถูกต้อง หมายความว่า นายพีระพันธุ์ได้ให้ข้อมูลกับข้อเท็จจริงในการตอบกระทู้ผมผิด และไม่พยายามปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเลยหน้าที่ และปล่อยให้กระบวนการที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตดำเนินต่อไป” นายศุภโชติกล่าว
          นายศุภโชติกล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือประชาชนต้องแบกรับค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็น จากกระบวนการทุจริตที่เกิดขึ้น การล็อกโควต้าในการคัดเลือกผู้ชนะ และการตั้งราคาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเกินไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงในปัจจุบันไม่ได้รับการสะท้อนในราคาที่ตั้งขึ้น
          นายศุภโชติกล่าวด้วยว่า ขณะที่ความไม่ยุติธรรมของทางภาครัฐ มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่ม และการสั่งชะลอการลงนามในสัญญาของบางกลุ่ม ทั้งๆ ที่มาจากกระบวนการรับซื้อเดียวกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรรม และขาดความโปร่งใสในการดำเนินการจากภาครัฐ ซึ่งกลุ่มที่ไม่ได้รับการเอื้ออำนวยกลับถูกผลักดันออกจากกระบวนการนี้ และกลุ่มที่ได้รับการอำนวยความสะดวกกลับได้รับโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน  “ผมต้องการให้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลชี้แจงต่อประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องราคาค่าใฟฟ้าสูงขึ้น แต่ยังเกี่ยวกับความโปร่งใส่ในกระบวนการคัดเลือกผู้ชนะ และการจัดการภาครัฐที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มเอกชน ที่ต้องดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม ในวันนี้ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น และพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประชาชนและกลุ่มเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมนี้” นายศุภโชติกล่าว
       ด้านนายวรภพกล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้ารอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ ยังเหลืออีก 978.2 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ได้เซ็นต์สัญญา หมายความว่า รัฐบาลสามารถชะลอ หรือยกเลิกโครงการได้ แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายพีระพันธุ์นั่งรวมอยู่ในคณะกรรมการด้วย จึงอยากให้ประชาชนตั้งคำถามกับทั้งสองท่านว่า ประเด็นนี้ควรมีการยกเลิกเพื่อไม่ให้ค่าไฟประชาชนแพงขึ้น
       นายวรภพกล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่นายพีระพันธุ์เคยตอบด้วยการหยิบยกว่าเป็นข้อกฎหมายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะในข้อกฎหมายเขียนชัดเจนว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สงวนสิทธิให้สามารถยกเลิกได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงมติของ กพช. ซึ่งเกี่ยวพันไปกับโครงการรับซื้อไฟฟ้า เฟสสอง 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการรับซื้อแบบเดียวกัน เพราะไม่มีการประมูล รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้ามีการประมูลด้วยราคาเท่าเดิมค่าไฟควรจะลดลงทุกปีตามค่าพลังงานหมุนเวียนที่จะลดลงอยู่แล้วส่วนการลงนามสัญญามีจะมีการเจรจานั้น นายวรภพกล่าวชี้แจงว่า หากยึดค่าไฟของประชาชนเป็นหลักควรเลิก ไม่ใช่ชะลอ หรือเจรจาให้เอกชนลดราคา เพราะย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อสภาวะการที่เรามีโรงไฟฟ้าล้นเกิน นายวรภพกล่าวว่า สำหรับความต้องการพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะสิ่งที่เอกชนต้องการคือรอนโยบาย Direct PPA เพื่อให้สามารถเดินหน้าซื้อขายพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ไม่ใช่มาซื้อต่อจากการไฟฟ้าเท่านั้น

Section Title

แชร์โพสต์ :

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top